ชี้ชัดด็อทคอม บล็อกแห่งสามก๊ก ประวัติศาสตร์ และเรื่องจีนๆ โดย ชัชวนันท์ สันธิเดช สุดยอดแฟนพันธุ์แท้สามก๊ก และสุดยอดแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2008
Thursday, March 29, 2012
กวนอู หักกี่ด่าน ..บั่นหัวใคร?
วีรกรรมที่ทำให้ชื่อเสียงของกวนอูเลื่องลือกันไปไกลที่สุด คือการ “หักห้าด่าน บั่นหัวหกขุนพล” ของโจโฉ เพื่อกลับไปหาเล่าปี่ พี่ชายร่วมสาบาน
ดังที่ได้เล่ามาแล้วว่ากวนอูไปเข้าด้วยโจโฉ หลังจากเล่าปี่พ่ายศึกต่อโจโฉที่เมืองชีจิ๋ว โดยตัวกวนอูถูกล้อมไว้ที่เมืองแห้ฝือ โจโฉจึงส่งเตียวเลี้ยวมาเกลี้ยกล่อมให้นายพลหนวดงามไปรับราชการด้วย สุดท้ายกวนอูยอมตอบตกลง ด้วยเงื่อนไขว่าวันใดที่ได้ทราบข่าวของเล่าปี่เขาจะตีจากไป แต่จะสร้างความชอบทดแทนพระคุณโจโฉเสียก่อน
ช่วงที่อยู่กับโจโฉ กวนอูได้นำทัพออกรบกับอ้วนเสี้ยว และได้ลงง้าวฆ่างันเหลียง ทหารเสือของนายพลอ้วน (วรรณกรรมสามก๊กบอกว่ากวนอูฆ่าบุนทิว คู่หูของงันเหลียงด้วย ซึ่งไม่จริง) จึงถือเป็นการแทนคุณโจโฉเสร็จสิ้นเรียบร้อย
วรรณกรรมเล่าว่า หลังจากตัดหัว งันเหลียง-บุนทิว แล้ว กวนอูก็ได้รับจดหมายจากเล่าปี่ ซึ่งลี้ภัยไปอาศัยอยู่กับอ้วนเสี้ยว เนื้อความเป็นการตัดพ้อต่อว่าน้องร่วมสาบานที่เปลี่ยนข้างไปอยู่กับโจโฉ (ที่จริงแล้ว เล่าปี่ถูกอ้วนเสี้ยวบังคับให้เขียน) ขุนพลหน้าแดงได้เห็นลายมือจริงๆ ของพี่ชายก็ถึงกับน้ำตาไหล คิดว่าพี่เข้าใจเจตนาของตนเองผิด จึงสั่งลูกน้องเก็บข้าวของ จะรีบกลับไปหานายเก่า โดยจะแวะไปบอกลาโจโฉเสียก่อน
เมื่อโจโฉทราบข่าวคราวก็เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้าน ไม่ให้กวนอูเข้าพบ เพื่อเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ให้เขาจากไป สุดท้าย น้องรองแห่งสวนท้อจึงจำต้องเสียมารยาท ฝากจดหมายไว้แล้วออกเดินทางทันที
ครั้นโจโฉทราบข่าวกวนอูจะไปแน่แล้ว จึงออกจากบ้านรีบตามไปส่ง เมื่อพบกวนอู โจโฉได้บอกลาอย่างเป็นมิตร พร้อมทั้งอวยพรให้โชคดี ทั้งยังยกทองคำและทรัพย์สินเงินทองให้อีกมากแต่กวนอูไม่รับสักอย่าง นอกจาก เสื้อที่ระลึกเพียงตัวเดียว
ทั้งนี้เพราะโจโฉต้องการ “ซื้อใจ” กวนอูเป็นครั้งสุดท้าย ไหนๆ ก็ต้องจากกัน แม้จะรั้งตัวไว้ไม่ได้ อย่างน้อยกวนอูจะได้ไม่ทำตัวเป็นภัยต่อฝ่ายเขาในวันข้างหน้า
กว่าจะออกจากเมืองหลวงไปได้ คณะของกวนอูต้องฝ่าด่านถึงห้าด่าน บรรดานายด่าน-คนเฝ้าเมืองแต่ละคนต่างก็ขัดขวาง ไม่มีใครยอมให้คณะของน้องรองแห่งสวนท้อผู้นี้จากไปโดยดี กวนอูจึงต้องใช้กำลังหักออกไป และฆ่าขุนพลถึงหกคน
ไม่ว่าจะเป็นขงสิ้วแห่งด่านตังเหลงก๋วน ฮันฮก เจ้าเมืองลกเอี๋ยง พร้อมด้วยเบงทัน นายทหารของฮันฮก เปี๋ยนฮี นายด่านกิสุยก๋วน อองเซ็ก เจ้าเมืองเอี๋ยงหยง สุดท้ายคือจินกี๋ นายด่านหวยจิ๋วก๋วน ไม่นับทหารเลวอีกมาก ฟังดูราวกับเขาเป็นนักรบระดับ “เทพอวตาร”
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงก็คือ การหักด่านฆ่าคนของกวนอูนั้น ไม่เคยเกิดขึ้นเลย
จดหมายเหตุสามก๊กระบุว่า หลังจากกวนอูสร้างผลงานชิ้นโบแดงด้วยการฆ่า “งันเหลียง” ทหารเอกของอ้วนเสี้ยวได้แล้ว โจโฉก็รู้ทันทีว่ากวนอูถึงเวลาต้องไป ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ โดยกวนอูได้คืนทรัพย์สินสิ่งของทุกอย่าง และเขียนจดหมายลาทิ้งไว้ให้โจโฉ ก่อนจะมุ่งหน้ากลับไปหาเล่าปี่ที่อยู่กับอ้วนเสี้ยวในตอนนั้น โดยโจโฉไม่ได้ปิดบ้านหนี เพราะกวนอูไม่ได้ไปลาเขาด้วยตัวเองเหมือนที่ในวรรณกรรมว่าไว้
เมื่อบรรดาที่ปรึกษาของโจโฉทราบเรื่อง ต่างก็ยุให้นายส่งคนไล่ตามไป ทว่าโจโฉกลับบอกว่า “ลูกน้องใครก็ต้องรับใช้นายของเขา เราอย่าไปตามเขาเลย” และแล้ว กวนอูจึงได้กลับไปหาพี่ชายร่วมสาบานโดยสวัสดิภาพ
จะเห็นได้ว่า กวนอูตัวจริงไม่เคยต้องหักด่านฆ่าคน แต่วรรณกรรมสามก๊กได้แต่งเติมเรื่องราวจนสนุกสนาน ราวกับขุนพลผู้นี้จะฆ่าใครก็ฆ่าได้ง่ายๆ เหมือนหยิบขนมกิน แม้คนของโจโฉจะระดมกำลังกันมาทั้งเมืองก็มิอาจหยุดเขา ความ “เหนือจริง” ตรงนี้ ทำให้อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของกวนอูนั้นเป็นที่โจษขานกันไปทั่ว แม้ยุคนี้สมัยนี้ยังมีผู้เอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์จนโด่งดัง
สิ่งหนึ่งที่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรมสามก๊กระบุไว้สอดคล้องกันก็คือ โจโฉยอมปล่อยกวนอูไปโดยดี ซึ่งทำให้เราต้องยอมรับในหัวจิตหัวใจของคนใหญ่แห่งราชวงศ์ฮั่นเป็นอย่างยิ่ง
รู้ทั้งรู้ว่ากวนอูเก่งขนาดไหน มิหนำซ้ำ เล่าปี่เองก็อยู่กับอ้วนเสี้ยว กวนอูไปหาเล่าปี่ ก็เท่ากับไปเป็นกำลังของอ้วนเสี้ยว ซึ่งกำลังรบอยู่กับตัวเองแท้ๆ โจโฉก็ยัง “ใจนักเลง” พอที่จะปล่อยไป นี่ไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายๆ เลย
เราต้องยอมรับในความ “ใจเด็ด” ของโจโฉ ที่ทำตามสัญญาด้วยการปล่อยกวนอูไป แม้การรักษาสัจจะนั้นอาจเป็นหอกหวนกลับมาทิ่มแทงตัวเขาในภายหลัง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องยกย่องกวนอูที่รักษาคำพูด ทดแทนคุณโจโฉด้วยการฆ่างันเหลียงเสียก่อน ทั้งยังคืนทรัพย์สินทุกอย่างให้ เป็นการจากไปอย่างไม่มีอะไรติดค้าง สมศักดิ์ศรีลูกผู้ชายทุกประการ
การตีจากโจโฉของกวนอูตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จึงมิใช่การอวดฝีมือรบของขุนพลคนหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องราว “ใจแลกใจ” ของ “ลูกผู้ชายสองคน” คือ “กวนอู” และ “โจโฉ” ที่งดงาม และน่ายกย่องยิ่งกว่าการหักด่านบั่นหัวมนุษย์เป็นไหนๆ ครับ
[บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของซีรีส์ "เรื่องจริงของกวนอู" มีจุดมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกวนอู ขุนศึกในยุคสามก๊ก เพื่อส่งเสริมการศึกษาเรื่องสามก๊กอย่างถ่องแท้โดยใช้ปัญญา ไม่งมงาย ด้วยความเชื่อว่า "ความดีงาม" ต้องเริ่มจาก "ความจริง" ครับ]
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ผมพึ่งจะมาเห็นบล๊อคนี้
ReplyDeleteติดตามสามก๊ก ฉบับประวัติศาสตร์
ขอบคุณมาหเลยครับผม